ถ้าพูดถึงสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ บอกเลยว่ามันมีอยู่เยอะมาก ๆ มากเกินกว่าที่มนุษย์อย่างเรา ๆ จะรู้จักพวกมันทั้งหมด เพราะสิ่งมีชีวิตบางชนิดก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าพวกมันถูกจับไปไว้ในที่อื่นก็อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ จนอาจนำไปสู่หายนะได้ และสิ่งที่เราพูดถึงอยู่นี้ เรียกกันว่า เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ผ่านมาสัตว์ในกลุ่มนี้ก็ถูกนำเข้ามาในไทยและสร้างความเสียหายไปมาก มากจนรัฐบาลต้องสั่งห้ามนำเข้ากันเลยทีเดียว ซึ่งในบทความนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับ 10 รายชื่อ เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกห้ามนำเข้าประเทศไทยเด็ดขาด ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
เอเลี่ยนสปีชีส์ คืออะไร ?
เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) คือ สิ่งมีชีวิตจากต่างถิ่นที่ไม่เคยมีอยู่ในธรรมชาติของประเทศไทยมาก่อน และเมื่อถูกนำเข้ามา ก็ทำให้เกิดผลกระทบตามมา เอเลี่ยนสปีชีส์ มีทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก และพืชบางชนิด ซึ่งไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในไทย แต่มนุษย์เองนี่แหละที่เป็นคนนำเข้ามา จนกระทั่งวันหนึ่งได้ออกแม่แพร่พันธุ์ และการแพร่พันธุ์ของพวกมันทำให้เกิดผลกระทบ พอถึงจุดหนึ่งสิ่งแวดล้อมก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ระบบนิเวศไม่เหมือนเดิม ซึ่งที่จริงแล้วมันก็ส่งผลกระทบ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ โดยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า เอเลียนสปีชีส์ นี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien Species) เป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามาในพื้นที่นั้น ๆ แต่ก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ส่ง ผลกระทบ เชิงลบต่อสัตว์ท้องถิ่น พูดง่าย ๆ คือ เอเลี่ยนสปีชีส์ กลุ่มนี้ไม่ค่อยดุร้ายนัก พวกมันปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และสามารถปรับได้ดีมากเลยทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไปทำร้ายสัตว์ท้องถิ่นหรือสิ่งแวดล้อมอะไรมากนัก หรือไม่ได้ทำให้ระบบนิเวศเกิดความเสียหายขึ้น สรุปแล้วก็ถือว่าไม่ได้อันตรายต่อ ระบบนิเวศ และบางชนิดก็อาจทำให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นมีความสมบูรณ์ขึ้นด้วย
- ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species : IAS) เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ถูกนำเข้ามาและทำให้สัตว์ท้องถิ่นได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย เพราะมันมีเอเนอร์จี้เยอะเหลือเกิน แถมยังแพร่พันธุ์ได้เร็วสุดๆ จนกลายเป็นสายพันธุ์เด่นแทนที่สัตว์ท้องถิ่น และที่มากไปกว่านั้นคือมันมาทำร้ายสัตว์ท้องถิ่นจนเริ่มทยอย สูญพันธุ์ บอกเลยว่าส่งผลเสียต่อระบบนิเวศมาก ๆ ยิ่งถ้าหากเราไม่รีบจัดการตั้งแต่เริ่มต้นมันสามารถแพร่กระจายความรุกรานในวงกว้างได้เพิ่มอีกสองเท่าตัว ถือเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง
10 เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ถูกนำเข้ามาในไทย มีอะไรบ้าง ?
ในบรรดาสัตว์เอเลียนสปีชีส์ ที่ถูกสั่งห้ามนำเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต จะประกอบด้วย สายพันธุ์ปลา หลายชนิด ที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างแดน ส่วนมากจะมีนิสัยดุร้ายและแพร่พันธุ์ได้ง่ายมาก ๆ เรียกว่าเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามาแล้วสร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเลยทีเดียว ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งควบคุมยากเท่านั้น มาดูกันว่า 10 เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ห้ามนำเข้ามาในไทย มีอะไรบ้าง เราพอจะคุ้นน่าตาของมันบ้างไหม
ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid)
เป็นปลาขนาดกลางจากทวีปอเมริกากลาง บนลำตัวมีแถบสีดำ 7 แถบ พบการรุกรานในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2548 ที่บริเวณเขตบางขุนเทียนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วก็สวยไม่เบา แต่พวกมันก็ดุร้ายใช่ย่อย ในส่วนของการแพร่สายพันธุ์ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะมีการแพร่พันธุ์ค่อนข้างช้า ถือเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่น่าจับตามองไม่แพ้ตัวอื่น ๆ เพราะเป็นสายพันธุ์ปลา ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ไว และชอบกินปลาตัวเล็กจนทำให้เหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ
- ความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอมายัน กินปลาเล็กและสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง แย่งอาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่นจนหมด
ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia)
มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่คนไทยหลายคนรู้จักกันดี ถิ่นกำเนิดของพวกมันคือทวีปแอฟริกา ล่าสุดนี้ก็เข้ามาสร้างความหายนะให้กับไทย พวกมันแพร่พันธุ์กันอย่างรวดเร็ว ด้วยนิสัยอันดุร้าย ทั้งยังหิวโหยอยู่ตลอดเวลา จึงกินสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ จนแทบจะสูญพันธุ์กันเลยทีเดียวและในตอนนี้ประเทศไทยเองในทุกแถบพื้นที่มีปลาหมอสีคางดำสายพันธุ์นี้อยู่แทบจะทุกที่ และสร้างความเดือดร้อนในวงกว้าง
- ความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอสีคางดำ การแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแย่งอาหารสัตว์ท้องถิ่น ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ
- อ่านข่าวปลาหมอสีคางดำ ได้ที่ >> สรุปข่าว 11 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ “ปลาหมอคางดำ”
ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra cichlid)
ปลาหมอบัตเตอร์ อีกหนึ่งปลาหมอจากทวีปแอฟริกา ตามลำตัวของมันจะมีแถบสีดำ 5 แถบจัดเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ถูกสั่งห้ามนำเข้าไทย เพราะพวกมันแพร่พันธุ์กันไวจริง ๆ แถมยังกินเก่งมาก กินแทบทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นปลาเล็กปลาน้อย ไข่ปลา รวมไปถึงอาหารที่ถูกเทลงน้ำด้วยการที่พวกมันกินอาหารได้ทุกอย่างแบบนี้ ถ้าเราไม่รีบจัดการระบบนิเวศในสัตว์น้ำจะมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
- ความเสียหายที่เกิดจากปลาหมอบัตเตอร์ กินทุกอย่างเป็นอาหาร แย่งอาหารสัตว์น้ำท้องถิ่น
หอยเชอรี่ (Pomacea canaliculate)
หอยเชอรี่ หอยราสเบอร์รี่ หอยโข่งอเมริกาใต้ หรือ หอยเป๋าฮื้อน้ำจืด จัดเป็นกลุ่มเอเลียนสปีชีส์ ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ที่มีคนนำเข้ามาแพร่พันธุ์เพราะเลี้ยงในประเทศไทย เพื่อหวังให้มันเป็นอาหารและเลี้ยงเพื่อความสวยงาม แต่ปัจจุบันความน่ารักของมันได้กลายเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจ เนื่องจากมันได้ถูกปล่อยหลุดลงตามแหล่งน้ำ และได้สร้างความเสียหายให้แก่ชาวนาอย่างมาก เนื่องจากมันชอบกินต้นข้าว ทำให้ชาวนาไม่สามารถส่งออกข้าวได้ แต่ปัจจุบันโดนชาวบ้านจับกินจนแทบไม่ใช่ปัญหาแล้ว
- ความเสียหายที่เกิดจากหอยเชอรี่ กินต้นข้าวอ่อนและทำลายการเจริญเติบโตของต้นข้าวและเป็นศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้แก่ชาวนา
เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง (Red-eared Slider)
เต่าญี่ปุ่นหรือเต่าแก้มแดง เป็นเต่าน้ำจืดที่มาจากอเมริกา ด้วยความสวยก็เลยถูกนำเข้ามาเลี้ยงในไทย แต่ภายหลังกลับพบว่าพวกมันไม่ได้มีนิสัยหรือรูปร่างน่าตาน่ารักเหมือนตอนแรกที่ซื้อมา จึงแห่กันไปปล่อยลงแม่น้ำ และที่มันกลายเป็นสัตว์ต่างถิ่นชนิดรุกรานเพราะพวกมันกินไม่เลือกด้วย แบบนี้ก็จับให้อยู่ในกลุ่ม เอเลี่ยนสปีชีส์ต้องห้ามซะเลย เพราะเข้ามาแล้วทำลายระบบนิเวศไปมากพอสมควร
- ความเสียหายที่เกิดจากเต่าญี่ปุ่นแก้มแดง เพราะพันธุ์ได้ง่ายทำให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและแย่งอาหารเต่าพื้นที่ประจำถิ่นนั้น
นกเอี้ยงชวา (Acridotheres javanicus)
นกเอี้ยงชวา (Acridotheres javanicus) เป็นนกเอี้ยงที่มีถิ่นกำเนิดจากเกาะชวาและบาหลี ที่มองเผิน ๆ หน้าตาดูคล้ายกับนกเอี้ยงไทย และด้วยลำตัวจะมีสีที่เข้มกว่ามาก มักจะพบเห็นอาศัยตามบริเวณทุ่งนาและอาศัยรวมกับเป็นฝูงหรือกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยความที่พวกมันแพร่สายพันธุ์อย่างรวดเร็วและทำให้นกเอี้ยงไทยค่อยๆ หายสาบสูญและลดลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ระบบนิเวศของสัตว์พื้นที่เดิมในประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง จึงจัดเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เข้ามาแทนที่สัตว์ท้องถิ่นในไทย
- ความเสียหายที่เกิดจากนกเอี้ยงชวา เข้ามาทำให้ระบบนิเวศเกิดความเสียหายในบริเวณแถบนั้นเพราะแย่งที่อยู่อาศัยนกเอี้ยงท้องถิ่นเดิมในประเทศไทยทุกชนิด
หนูนอร์เวย์ (Rattus norvegicus)
หนูนอร์เวย์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเรียกของ “หนูท่อ” เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์จากยุโรป และพบได้มากในประเทศไทยและสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ แต่ด้วยความกินไม่เลือกและสร้างความสกปรกอย่างมาก พบเห็นได้ตามลำคลอง ท่อ หรือสถานที่ที่สกปรก สร้างความเสียหายอย่างยิ่งในเรื่องของการแพร่สายพันธุ์ที่รวดเร็วและเป็นพาหะนำโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตส่งผลต่อสุขภาวะอนามัยของคนในประเทศ
- ความเสียหายที่เกิดจากหนูนอร์เวย์ เป็นพาหะนำโรคติดต่อเข้ามาและสร้างความสกปรกในบริเวณพื้นที่
มดคันไฟ (Solenopsis geminata)
มดคันไฟ อีกหนึ่งสายพันธุ์มดที่สร้างความดุร้ายไม่แพ้สัตว์ใหญ่ ๆ มีถิ่นกำเนิดมาจากอเมริกาใต้ พบได้ตามทุกพื้นที่ในประเทศไทย มดคันไฟชอบพื้นที่อบอ้าวและอากาศร้อนจึงสามารถเจริญเติบโตและแพร่สายพันธุ์ได้ดีเมื่ออาศัยอยู่ในประเทศไทย อาหารของพวกมันจะชอบกินซากสัตว์ ซากอาหารที่ตาย และย่อยสลายแล้วทุกชนิด รวมถึงสามารถกินน้ำหวานจากพืชได้อีกด้วย ด้วยความที่มันกินได้ทุกอย่าง จึงเข้ามาแย่งอาหารของสัตว์บริเวณพื้นที่นั้นและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศไม่แพ้กัน รวมถึงมดคันไฟยังทำลายพืชผลทางการเกษตรและสร้างความรำคาญให้เราได้ตลอด
- ความเสียหายที่เกิดจากมดคันไฟ ทำลายพืชผลทางการเกษตรและแย่งอาหารสัตว์ประจำพื้นที่ท้องถิ่นเดิม
ปลาเก๋าหยก (Jade perch)
ปลาเก๋าหยก มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย รูปร่างของมันดูหนาและโค้งมน แท้จริงแล้วมันไม่ใช่ปลาเก๋าแต่อย่างใด แต่มันคือพรรคพวกของปลากะพงดีๆ นี่เอง ถึงแม้ว่าจะเป็นอาหารของมนุษย์ที่เรากินได้ แต่มันก็คือเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่กินทุกอย่างที่ขวางหน้า และถ้าปล่อยไว้นาน ๆ ปลาท้องถิ่นของไทยคงสูญพันธุ์หมดแน่ ๆ รวมถึงระบบนิเวศบริเวณแถบนั้นอาจจะเกิดความเสียหายในวงกว้าง
- ความเสียหายที่เกิดจากปลาเก๋าหยก กินทุกอย่างเป็นอาหารและแย่งอาหารสัตว์น้ำชนิดอื่น
ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
สัตว์ที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม จัดเป็นเอเลียนสปีชีส์ ที่ถูกดัดแปลงด้วยวิธีตัดต่อพันธุกรรม ถึงแม้จะดูสวยงามและไม่ดุร้าย แต่อาจส่งผลกระทบให้กับระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ทางที่ดีถ้าหากพบเห็นปลาชนิดนี้ไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะจะเกิดความเสียหายในวงกว้างได้นั้นเอง
- ความเสียหายที่เกิดจากปลา GMO LMO : เข้ามาทำให้ระบบนิเวศเกิดความเสียหายและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบริเวณนั้นอาจเกิดผลกระทบในวงกว้าง
บทสรุป
สัตว์ในกลุ่ม Alien Species ทั้ง 10 ชนิดข้างต้นล้วนมีความอันตรายอยู่ในตัว ไม่ใช่แค่ระบบนิเวศเท่านั้นที่จะได้รับความเสียหาย แต่ประชาชนอย่างเราก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะสัตว์กลุ่มนี้ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนรวมถึงสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตบริเวณนั้นก็ได้รับความเสียดายอย่างรุนแรง ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ และด้วยเหตุผลนี้เองรัฐบาลไทยถึงมีมาตรการสั่งห้ามนำเข้าเอเลี่ยนสปีชีส์ ถ้าใครฝ่าฝืนก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยล่ะ ถ้ารู้อย่างนี้แล้วอย่าลืมช่วยกันเป็นหูเป็นตาด้วยนะ
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ animal2you.com