“พะยูน” ดุหยงน้อยแห่งทะเลแดนใต้

ไม่นานมานี้คุณอาจเคยได้ยินข่าวคราวของลูกพะยูนน้อยน่าสงสารที่พลัดหลงจากแม่ ในตอนที่พายุพัดเข้าไปยังชายฝั่งทะเลของจังหวัดกระบี่ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับฝูงพะยูนของประเทศไทย หลายๆ คนอาจจะรู้จักว่าพะยูนเป็นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเจ้าพะยูนน้อยเหล่านี้เป็นสัตว์ทะเลที่มีความงดงามไม่แพ้สัตว์ทะเลชนิดอื่นเลย

พะยูน หรือ ดุหยง ที่แปลว่าหญิงแห่งท้องทะเล

ประวัติพะยูน

พะยูน หรือ ที่คนใต้เรียกว่า “ดุหยง” เป็นภาษามลายู มีความหมายว่า หญิงสาวแห่งท้องทะเล เป็นสัตว์ทะเลเขตน้ำอุ่นที่เลี้ยงลูกด้วยนม พวกมันมีลำตัวคล้ายโลมาผสมกับแมวน้ำ มีลำตัวสีเทาออกชมพู หรือสีน้ำตาลเทา มีครีบอยู่ทั้ง 2 ข้างของลำตัวที่ช่วยพวกมันว่ายน้ำ มีตาที่เล็ก และมีขนขึ้นอยู่โดยรอบริมฝีปาก ส่วนพะยูนตัวผู้จะมีฟันคู่หนึ่งงอกออกมาเมื่อโตเต็มที่

พะยูนจะออกลูกได้เพียงครั้งละ 1 -2 ตัว พวกมันเป็นสัตว์สงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ที่ห้ามค้าขายโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพื่อเพาะพันธุ์เท่านั้น แม้พะยูนเป็นสัตว์ทะเล ว่ายน้ำได้ แต่พวกมันไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นปลาตามที่หลายคนเข้าใจ พะยูนหายใจด้วยปอด และถือเป็นญาติห่างๆ ของช้างด้วย

ของเสียจากพะยูนเป็นปุ๋ยและอาหารชั้นดีต่อระบบนิเวศ

ประโยชน์ของพะยูน

พะยูนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศมากกว่าที่คุณคิดหลายเท่านัก เพราะเจ้าพะยูนเหล่านี้กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร พวกมันปล่อยของเสียออกมาที่สามารถเป็นทั้งปุ๋ย และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ ตามแนวชายฝั่ง ปุ๋ยจากพะยูนจะช่วยให้หญ้าทะเลเติบโตได้ดี และหญ้าทะเลเหล่านี้จะสามารถช่วยเป็นเกราะกำบังการพังทลายของแนวชายฝั่ง รวมถึงเป็นบริเวณที่ช่วยอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็กก่อนที่จะได้เติบโตไปผจญโลกกว้าง ประโยชน์ของพะยูนอาจจะดูไม่ได้ยิ่งใหญ่แต่หากไม่มีพะยูนระบนิเวศบริเวณชายฝั่งจะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

พะยูนในไทย

น่าเศร้าที่จากการสำรวจล่าสุด จำนวนประชากรพะยูนในไทยเหลืออยู่เพียงประมาณ 240 ตัวเท่านั้น ก่อนหน้าที่พะยูนจะได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวน จำนวนของพะยูนได้ลดลงอย่างรวดเร็วด้วยความเชื่อผิดๆ ของหลายคนที่เชื่อว่าน้ำตาของพะยูนเป็นเครื่องรางช่วยในเรื่องเมตตามหานิยม และที่แย่กว่านั้นกระดูกและเขี้ยวของพะยูนถูกนำไปขายในมูลค่าที่สูง ทำให้บรรดาชาวประมงพากันออกล่าพะยูนที่สงสารเหล่านี้

จำนวนประชากรพะยูนในไทยเหลืออยู่เพียงประมาณ 240 ตัวเท่านั้น

แม้ว่าในปัจจุบันบรรดาพะยูนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ทำให้การไล่ล่า หรือการจับปลาพะยูนหายไป แต่คุณรู้หรือไม่ว่ามนุษย์อย่างเราๆ ยังคงมีการทำร้ายเจ้าพะยูนพวกนี้ทางอ้อมอยู่ดี ด้วยการที่เราทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล อย่างในกรณีของ “มาเรียม” เจ้าพะยูนน้อยแห่งทะเลกระบี่ที่ได้กินขยะพลาสติกลงไปจนทำให้มันเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต