เราจะพาทุกคนไปรู้จัก “ปลาหมอคางดำ” เป็น 1 เอเลี่ยนสปีชีส์ในไทย (Alien Species) ที่แฝงตัวอยู่ในประเทศไทย มายาวนานกว่า 14 ปี เราอาจจะเคยเห็นกัน แต่อาจจะไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วมันคือ “ปลาหมอสีคางดำ” เพราะหน้าตามันคล้ายกับปลาหมอเทศซะเหลือเกิน ถ้าไม่ดูดีๆ ก็คือดูไม่ออกเลย และวันนี้เราจะมา สรุปข่าว ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ ปลาหมอคางดำ มาจากที่ไหน? เข้าไทยมาได้ยังไง? แล้วมันอันตรายยังไง? สรุปให้จบในบทความนี้เลย
ปลาหมอคางดำ คืออะไร ?
ปลาหมอสีคางดํา หรือ Blackchin tilapia ปลาชนิดนี้มีรูปร่างลักษณะที่ใกล้เคียงกับปลาหมอสีและปลาหมอเทศ เมื่อแรกเกิดตัวเล็กอาจสังเกตุได้ยาก แต่เมื่อตัวโตเต็มวัย จะเริ่มมีลักษณะที่ชัดเจนมากขึ้น บริเวณช่วงคางหรือปากล่างจะมีสีดำเข้ม และมีขนาดตัวเล็กกว่า
ปลาหมอคางดํา มาจากประเทศอะไร ?
ปลาหมอคางดำ มีถิ่นกําเนิดในทวีปแอฟริกา พบเจอที่ไนจีเรีย คาเมรูน เซเนกัล กินี ไลบีเรีย โตโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐคองโกมอริเตเนีย เป็นต้น และปัจจุบันมีการขอนำเข้าพันธุ์ปลาหมอสีคางดำในอีกหลายประเทศ เช่น อเมริกา ยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทย
ปลาหมอคางดำ เข้ามาในไทยได้อย่างไร ?
ปี พ.ศ 2553 พบว่าไทยเคยขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ โดยตอนนั้นกรมประมงได้อนุญาตให้บริษัท CPF นำเข้ามาจากประเทศกานา 2,000 ตัว เพื่อทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ (โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ให้มีการแพร่ระบาด)
ปี พ.ศ 2553 เดือนธันวาคม ปลาหมอคางดำมาถึงประเทศไทย และถูกนำไปที่ศูนย์วิจัยสัตว์น้ำของ CPF ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ปี พ.ศ. 2554 เดือนมกราคม ปลาทั้งหมดที่นำเข้ามาได้รับความเสียหายจากการขนส่งและทยอยตายจนเหลือเพียงแค่ 600 ตัว แต่จำนวนที่เหลือก็มีสภาพอ่อนแอ และตายลงต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว ทาง CPF จึงตัดสินใจยุติโครงการวิจัย
CPF บอกว่า หลังยุติโครงการก็ได้ทำลายซากปลาทิ้งตามขั้นตอนมาตรฐาน โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้น และฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และทำการส่งมอบตัวอย่างซากปลาทั้งหมด 50 ตัว ซึ่งดองในฟอร์มาลีนให้กรมประมงเก็บไว้
การแพร่ระบาดในไทยครั้งแรก ของปลาหมอคางดำ
ในปี พ.ศ. 2555 มีการพบปลาหมอคางดำแพร่ระบาดครั้งแรกในไทยที่ ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านทำบ่อกุ้งและบ่อเลี้ยงปลากันมาก
ชาวบ้านบอกว่า ตอนพบครั้งแรกไม่รู้ว่ามันคือปลาอะไร แต่ว่าไปดูมาแล้วดูคล้ายปลานิลและปลาหมอเทศ มันไล่กินกุ้งและปลาอื่นจนเกือบหมดบ่อ ส่วนพวกมันเองก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นภัยคุกคาม กุ้งและปลาที่เลี้ยงไว้ก็หายไปเกือบหมด ทำเอาเกษตรกรบางคนหมดเนื้อหมดตัวกันไปเยอะ
ปลาหมอคางดำ อยู่ในน้ำทะเล หรือน้ำจืด ?
ปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์ที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก สามารถปรับตัวให้อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ป่าชายเลน แม้แต่น้ำคุณภาพไม่ดี หรือค่าออกซิเจนต่ำมันก็ใช้ชีวิตอยู่ได้
ปลาหมอคางดําอันตรายยังไง ?
ปลาหมอคางถือเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่อันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น แย่งอาหารสัตว์น้ำที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เป็นสัตว์ที่ไม่ควรมีอยู่ในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด เพราะจะรุกรานทำลายสัตว์น้ำและระบบนิเวศของไทยอย่างรุนแรง
ปลาหมอคางสีดํา เป็นปลามีลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า ทำให้หิวตลอดเวลา มันจึงเป็นสัตว์นักล่าที่ดุร้าย กินได้ทั้งพืชน้ำ ปลาเล็ก ปลาน้อย กุ้ง รวมถึงซากสิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่ขวางหน้า
การขยายพันธุ์ของปลาหมอคางสีดํา
ปลาหมอคางดําตัวเมีย สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก เพราะวางไข่ได้ตลอดปี คือตั้งท้อง 22 วัน พอวางไข่เสร็จแล้ว ก็ท้องต่อได้ทันทีไม่มีพัก
ปลาหมอคางสีดําตัวผู้จะปกป้องไข่ด้วยการอมไว้ในปาก ยอมอดอาหาร เมื่อฟักเป็นตัวแล้วค่อยๆ ปล่อยลูกปลาออกมา ทำให้ไข่มีโอกาสรอดสูงถึง 99%
แนวทางการกำจัดปลาหมอคางดํา
- มีการออกนโยบายขึ้นราคารับซื้อปลาหมอคางดำจาก กก.ละ 8 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 15 บาท เพื่อจูงใจให้มีการล่าเพิ่มขึ้น แต่ห้ามมีการเพาะเลี้ยงเด็ดขาด
- ปล่อยปลานักล่าลงแม่น้ำ เช่น ปลากะพงขาว ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ
- นำมาทำประโยชน์ เช่น นำมาทำปลาป่นเพื่อเป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งทำเป็นอาหารแปรรูป
ปลาหมอคางดำ กินได้ไหม
ปลาหมอคางดำ สามารถนำมากินได้เหมือนปลาทั่วๆไป กรมประมงได้ เสนอให้เกษตรกรและประชาชนจับปลาหมอคางดํา มาปรุงเป็นเมนูอาหารต่างๆ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาหวาน ป่นปลา แกงส้มปลา ขนมจีนน้ำยาปลา เป็นต้น และยังมีอีกหลายเมนูปลาที่น่านำไปประกอบอาหาร
จังหวัดที่พบปลาหมอคางดำ
ถึงแม้ในปี 2561 กรมประมงจะออกประกาศห้ามนำเข้าหรือเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำทุกกรณี แต่ก็ไม่สายไปแล้ว ปลาหมอคางดำมีการแพร่ระบาดไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ล่าสุดพบปลาหมอคางดำระบาดแล้วใน 16 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ราชบุรี จันทบุรี เพชรบุรี เป็นต้น
แต่ยังไม่มีรายงานว่ามีการพบปลาหมอคางดำ ในพื้นที่ทางภาคเหนือ หรือ ภาคอีสาน แต่ถ้าหากพบ คาดเดาว่าจะมาจากสาเหตุที่อาจมีคนนำพาไป เพาะเลี้ยง
กรมประมง vs CPF
ปี พ.ศ 2565 กรมประมง มีการสุ่มจับปลาหมอคางดำจาก 6 จังหวัดทั่วประเทศไทย มาตรวจ DNA ว่ามีต้นตอมาจากแหล่งเดียวกันหรือไม่ และผลสรุปพบว่ามาจากแหล่งเดียวกัน จึงต้องการนำผลไปเทียบกับปลาหมอคางดำที่เคยมีการขอนำเข้ามา
กรมประมงยอมรับว่า CPF เป็นบริษัทเอกชนรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ แต่ต้นตอการแพร่ระบาดอาจเกิดจากการนำเข้าถูกกฎหมายแล้วทำผิดเงื่อนไข หรืออาจจะเกิดจากการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายก็เป็นไปได้ แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นมายาวนานหลายปีแล้ว จึงไม่สามารถย้อนรอยตรวจสอบแหล่งที่มาได้
เรื่องนี้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม จนทางบริษัท CPF ต้องออกมายืนยันหนักแน่นว่าได้ทำลายซากปลาหมอคางดำทั้งหมดแล้ว มั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของการระบาดในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมประมงออกมาแถลงการตอบกลับว่า ไม่พบการนำส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำทั้ง 50 ตัว รวมทั้งไม่มีตัวอย่างขวดโหลดองปลา ตามที่ CPF กล่าวอ้าง ทำให้เรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงไม่มีข้อยุติ
สรุป
ผู้เชี่ยวชาญได้บอกว่า ตอนนี้ปลาหมอคางดำสามารถปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศของไทยได้แล้ว และกำลังยกระดับขึ้นเป็นสายพันธุ์รุกรานระดับภูมิภาค มีแนวโน้มจะแพร่ระบาดจากไทย ไปกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์
ต่อไปนี้สัตว์น้ำท้องถิ่นชนิดใด ที่ปรับตัวให้เข้ากับการมีอยู่ของปลาหมอคางดำไม่ได้ ก็จะลดจำนวนลงหรือหายไปจากระบบนิเวศในที่สุด ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ในอนาคตได้ หลายคนเห็นตรงกันว่า ไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะกำจัดให้หมด ทางที่ดีที่สุดคือหาวิธีอยู่กับมันให้ได้ และนำมันมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ animal2you.com