Categories
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ

กบแก้ว เจ้าสัตว์ตัวน้อยที่มาพร้อมความโปร่งใสและสีสันโดดเด่นสะดุดตา

กรกฎาคม 2021

           กบแก้ว สายพันธุ์เอกวาดอร์ หรือ Hyalinobatrachium yaku เป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งถูกค้นพบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่จัดอยู่ในตระกูล Centrolenidae พบได้ในพื้นที่ป่าฝนในประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ประเทศบราซิล คอสตาริกา โคลัมเบีย กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก และปานามา กบแก้วมีจุดเด่น คือ ผิวมีความโปร่งใสราวกับแก้วสามารถมองทะลุเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจนจึงเป็นที่มาของชื่อ กบแก้ว นั่นเอง

ลักษณะโดยทั่วไปของกบแก้ว 

           กบแก้ว เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีลำตัวยาวประมาณ 0.8 นิ้ว มี 4 ขา ผิวมีลักษณะเป็นเมือกลื่นๆ ตัวมีสีเขียวหรือน้ำตาลแตกต่างกันไปซึ่งในส่วนของสีผิวจะมีสีอะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ กบแก้วมีผิวหนังโปร่งใสสามารถมองทะลุไปเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน มีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีอยู่ทั้งหมดราวๆ 150 สายพันธุ์ ก่อนหน้านี้ได้พบอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ประเทศเปรูนั่นก็คือ H. pellucidum แต่สายพันธุ์ที่มีความน่าสนใจและสายพันธุ์ที่มีความโปร่งใสมากที่สุดก็คือสายพันธุ์ Hyalinobatrachium yaku ของประเทศเอกวาดอร์นั่นเอง

ลักษณะการวางไข่และการขยายพันธุ์ของกบแก้ว

           กบแก้วสามารถออกไข่ได้ครั้งละประมาณ 18-30 ฟอง โดยจะวางไข่บนใบไม้ที่อยู่ใกล้ๆกับบริเวณริมน้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้และบางครั้งอาจจะเห็นพวกมันกระโดดอยู่บนผิวน้ำไปมา การขยายพันธุ์กบแก้วจะทำได้ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมเท่านั้น เนื่องจากกบแก้วเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเปราะบางมากจึงทำให้การขยายพันธุ์เป็นไปได้ยาก ต้องรอให้มีความเหมาะสมทางธรรมชาติและความสมดุลทางธรรมชาติเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงทำได้เพียงการปล่อยให้ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ

สาเหตุที่ทำให้กบแก้วตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจที่จะพยายามศึกษาว่าเพราะเหตุใดกบแก้วจึงวิวัฒนาการตัวเองมาให้มีความโปร่งใสเช่นนี้ ซึ่งอาจจะดูผิดวิสัยของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วไป โดยมีการสันนิษฐานว่าอาจมีการวิวัฒนาการให้ตัวโปร่งใสเพื่อการพรางตัวที่แนบเนียนและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าเจ้ากบแก้วสามารถเดินทางไกลเพื่อไปขยายพันธุ์ได้ โดยรายงานพบว่าสามารถขยายพันธุ์ได้ไกลถึง 110 กิโลเมตร จากจุดที่เป็นแหล่งที่อยู่ของมัน และอาจมีการขยายพันธุ์ไกลออกไปเรื่อยๆ

           แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ากบแก้วมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และมีภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้เนื่องจากมลพิษทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคามจากมนุษย์ โดยอิงข้อมูลปัจจุบันพบว่ากบแก้วทั่วโลกเหลืออยู่ประมาณ 5,000 ตัวเท่านั้น หากเราไม่เริ่มช่วยกันอนุรักษ์ตั้งแต่ตอนนี้อีกไม่นานคนรุ่นลูกรุ่นหลานอาจจะไม่มีใครได้เห็นและอาจไม่มีใครรู้จักกบแก้วตัวเป็นๆอีกต่อไปก็ได้

 

Categories
สัตว์บก

มดแพนด้า “ นักฆ่าวัว ”  ตัวต่อที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นมด

กรกฎาคม 2021

         หลายคนอาจสงสัยว่า มดแพนด้า  ( Panda Ant ) คือมดใช่หรือเปล่า? และก็มีอีกหลายคนที่เข้าใจว่ามดแพนด้าคือ มดชนิดหนึ่งที่มีหน้าตาน่ารักและลวดลายเหมือนแพนด้า แต่มดแพนด้าความจริงแล้วก็คือ ตัวต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “ Velvet Ant ” แปลว่า มดกำมะหยี่ ชื่อภาษาไทยมีชื่อว่า มดขนปก

“ นักฆ่าวัว ”ฉายาที่ได้มาโดยเจ้าตัวต่อมดแพนด้าไม่ได้ฆ่า

         นอกจากนี้เจ้ามดแพนด้ายังมีฉายาว่า “ นักฆ่าวัว ” ซึ่งฉายานี้มีที่มาจากเรื่องเล่าที่ว่า วันหนึ่งมีวัวตัวหนึ่งเดินไปเผลอเหยียบต่อตัวเมียเข้า จึงโดนตัวต่อต่อยตรงส่วนร่องเท้าที่เป็นเนื้ออ่อน วัวตัวนั้นเมื่อโดนต่อยแล้วก็ได้รับความเจ็บปวดอย่างมาก ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดีก็ได้ออกวิ่งไปอย่างบ้าคลั่งจนกระทั่งขาของมันหักแล้วก็ได้ตายลง

         และยังมีเรื่องเล่าในทำนองเดียวกันอีกว่า มีวัวโดนตัวต่อชนิดนี้ต่อยทำให้บวมและมีอาการอักเสบ ต่อมามีหนอนตัวอ่อนของแมลงเกิดขึ้นมาในแผลนั้น สุดท้ายแล้ววัวก็ตายเพราะอาการแผลติดเชื้อ ซึ่งพอได้ยินฉายา นักฆ่าวัว ก็มักจะเข้าใจผิดคิดว่าวัวตายในทันทีที่โดนเจ้ามดแพนด้าต่อย ซึ่งอันที่จริงแล้วมันไม่ได้มีพิษที่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตายได้ เมื่อโดนต่อยจะเจ็บปวดเพียงช่วงไม่กี่นาทีแรก จากนั้นจะมีเพียงอาการคันๆนิดหน่อยเท่านั้นค่ะ

วิธีจีบสาวสไตล์มดแพนด้า

         อันที่จริงแล้วมดแพนด้ามีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ด้วยกัน และแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีสีสันที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบสังคมสักเท่าไหร่ จึงมักพบพวกมัน 1-3 ตัวเท่านั้น เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์ตัวผู้ที่มีปีกแต่ไม่มีเหล็กใน จะทำหน้าที่บินไปหาตัวเมียที่ไม่มีปีกแต่มีเหล็กใน จากนั้นตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียมาก เมื่อเจอตัวเมียมันก็จะเกาะตัวเมียแล้วพาตัวเมียบินขึ้นไปผสมพันธุ์บนอากาศ

         เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้วตัวผู้จะบินลงมาเพื่อปล่อยให้ตัวเมียลงพื้นดิน เพื่อหารังผึ้งหรือว่ารังตัวต่อชนิดอื่นๆ ที่ทำรังตามพื้นเอาไว้แล้ว หลังจากนั้นต่อตัวเมียก็จะทำการวางไข่ลงไปในตัวอ่อนหรือในดักแด้ของผึ้งที่ต้องการจะวางไข่ โดยไข่ 1 ฟองใช้ฟักตัวอ่อน 1 ตัว โดยมดแพนด้าตัวเมียจะทำการเอาเหล็กในเจาะเข้าไปในไข่ เจ้าตัวอ่อนด้านในก็จะค่อยๆกินไข่และฟักตัวออกมา เมื่อมันกลายเป็นตัวเต็มวัยมันก็จะกินแค่น้ำหวานกับน้ำเท่านั้นเพื่อให้เป็นพลังงาน

         โดยปกติเมื่อต่อตัวเมียต่อยมันจะปล่อยสารพิษออกมาด้วย ทำให้ได้รับความเจ็บปวดมากๆแต่ก็ไม่ได้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยจะเจ็บปวดมากๆในช่วงเวลาแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น จากนั้นก็จะรู้สึกคันๆ ซึ่งตัวต่อชนิดนี้จะไม่ใช่สายพันธุ์ที่ดุร้าย ส่วนใหญ่จะเป็นการป้องกันตัว โดยส่วนใหญ่ตามประวัติคนที่เคยถูกต่อย ส่วนใหญ่มักจะเป็นการนั่งทับหรือไปเหยียบมันก่อนมันจึงตามากัด จัดเป็นเพียงสัญชาตญาณในการป้องกันตัวของเจ้าตัวต่อมดแพนด้าเท่านั้นค่ะ

บทความที่คุณอาจสนใจ : มดง่าม สัตว์ตัวจิ๋วภายใต้สังคมชั้นสูง

 

Categories
สัตว์น้ำ สัตว์น้ำเค็ม

ปูแมงมุมญี่ปุ่น ปูที่มีขายาวที่สุดในโลก

กรกฎาคม 2021

        เมื่อนึกถึงปูหลายๆคนอาจจะนึกถึงเมนูอาหารที่แสนอร่อยและอาจจะเป็นของโปรดของใครหลายๆคนด้วยนะคะ   ปูเป็นสัตว์น้ำที่มีลักษณะทางกายภาพคือ  มีกระดองหุ้มตัว  ไม่มีกระดูกสันหลัง  มี 10 ขา  มีมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ ทั่วโลก  ในแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีขนาดแตกต่างกันออกไปและมีสีสันที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของสายพันธุ์   วันนี้เราจะพามาดูสายพันธุ์ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น  “ สายพันธุ์ที่มีขายาวมากที่สุดในโลก ” จะยาวขนาดไหนไปดูกันเลยค่ะ

มารู้จักกับปูแมงมุมญี่ปุ่น  สัตว์ที่มีขายาวที่สุดในจำพวกสัตว์ขาปล้อง

         ปูแมงมุมญี่ปุ่น ( Japanese spider crab ) ชื่อภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ทาคาชิกามิ   จัดอยู่ในสกุล Macrocheira  เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยราวๆ 20 กิโลกรัม  มีขนาดลำตัวกว้างประมาณ 30-40 เมตรและยาวประมาณ 20 ซ.ม.  ส่วนขามีความยาวมากถึง 5.5 เมตร จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่มีขายาวมากที่สุดในจำพวกสัตว์ที่มีขาปล้อง   ลำตัวมีสีส้มแต้มด้วยจุดสีขาวเป็นลายตามตัว  โดยตัวเมียจะมีส่วนขาและส่วนก้ามที่สั้นกว่าตัวผู้   มันเป็นสัตว์ที่มีนิสัยอ่อนโยนแม้จะมีลักษณะดุร้ายก็ตาม 

แหล่งที่อยู่อาศัยที่สามารถพบได้บ่อยๆและการเอาตัวรอด

          มักจะพบปูแมงมุมญี่ปุ่นได้ในน่านน้ำของประเทศญี่ปุ่น  บริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาะฮนชูและอ่าวโตเกียวยาวลงมาจังหวัด คาโกชิมะ และจบที่ประเทศไต้หวัน   โดยสามารถพบได้ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 10-13 องศา  ที่ความลึก50-600 เมตร   เจ้าปูขายาวนี้มีปุ่มหนามและกระดองที่แข็งแรงเพื่อให้มันสามารถป้องกันตัวเองจากอันตรายได้   มันมักจะอำพรางตัวโดยการซ่อนตัวภายใต้ฟองน้ำ  สัตว์อื่นๆที่อยู่รอบๆตัว  รวมถึงทำตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมรอบๆตัว   ซึ่งการที่เปลือกของมันขรุขระไม่เรียบเนียนก็ทำให้มันได้เปรียบในการพรางตัวโดยเฉพาะการพรางตัวอยู่ตามโขดหินใต้น้ำ   มันมักจะออกหากินในเวลากลางคืนโดยการซุ่มดักจับสัตว์ตัวเล็กๆมาเป็นอาหาร  ถึงอย่างไรก็ตามมันก็ยังคงถูกมนุษย์ล่าเพื่อนำมาเป็นอาหารในเมนูจานพิเศษอยู่ดี   นั่นก็เพราะว่ามันมีรสชาติที่อร่อย  เนื้อแน่น  มีรสหวาน  จึงทำให้มีการล่ามันมาเพื่อจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในราคาที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียวและไม่แน่ว่าในอนาคตหากยังมีการนิยมล่าอยู่แบบนี้อาจทำให้มันสูญพันธุ์ก็ได้

 

Categories
ความรู้ สัตว์น้ำ

ปลาหมึกดัมโบ้หมึกน้อยหน้าตาทะเล้นน้องใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ

กรกฎาคม 2021

Dumbo-octopus

จัดเป็นหมึกน้ำลึก สายพันธุ์ Grimpoteuthis มีชื่อเล่นน่ารักๆว่า “ ปลาหมึกดัมโบ้ ” (Dumbo octopus ) ครีบที่เราเห็นว่าเหมือนหูที่วางอยู่บนหัวของมันแท้จริงแล้วคือ ครีบที่อยู่ข้างลำตัวไม่ใช่หัวอย่างที่เราเข้าใจ ซึ่งเจ้าครีบนี้จะช่วยในการว่ายน้ำและการประคองตัวของมัน เจ้าตัวนี้มีลักษณะลำตัวที่อ่อนนุ่มกึ่งโปร่งแสง มีครีบขนาดใหญ่อยู่ข้างลำตัว มีพังผืดคอยยึดอยู่ระหว่างหนวด เมื่อโตเต็มวัยหมึกดัมโบ้จะมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร แต่ก็เคยมีบันทึกว่าได้เคยมีการค้นพบเจอหมึกดัมโบ้สายพันธุ์ใหญ่ที่สุดด้วยขนาดราว 1.8 เมตร และมีน้ำหนักตัวมากถึง 5.9 กิโลกรัม และมีแหล่งอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกเช่นเดียวกันกับหมึกดัมโบ้สายพันธุ์ Grimpoteuthis

เจอปลาหมึกดัมโบ้ได้ที่ไหน?

นักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจพบปลาหมึกดัมโบ้ครั้งแรก ในบริเวณแถบชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ต่อมาพบว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของมันจะอยู่ในบริเวณน้ำที่มีระดับความลึกประมาณ 3,000-5,000 เมตร หรืออาจจะมากกว่านั้นเพราะเคยค้นพบเจอว่ามันสามารถอยู่ได้ที่ระดับความลึกถึง 7,000 เมตรเลยทีเดียว ดังนั้นจึงสามารถพบมันได้ในมหาสมุทรทุกที่ทั่วโลกในระดับความลึก3,000-7,000 เมตร ซึ่งหมึกสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์หายากที่สุด อาศัยแหล่งที่อยู่ในทะเลน้ำลึกทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่ามันมักใช้เวลายุ่งอยู่บนพื้นดินตะกอนใต้ทะเลเพื่อฟักตัวออกจากไข่ โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปีเลยทีเดียว พวกมันจะวางไข่ในระดับน้ำลึกที่ 200 – 600 เมตร ในอุณหภูมิที่เย็นจัดที่ประมาณ 6 องศาเซลเซียส 

วิธีการหาอาหารและการเอาตัวรอดสไตล์หมึกดัมโบ้

ด้วยความที่มันเคลื่อนที่โดยการขยับครีบและหนวดช่วยในการดันน้ำเข้าสู่ช่องดูดน้ำจากนั้นมันจะพ่นน้ำออกมาแรงพ่นจะช่วยให้ตัวมันลอยขึ้นไปด้านบน ( เล็กน้อย ) เพื่อที่มันจะได้มองหาเหยื่อได้ชัดขึ้นนั่นเอง เหยื่ออันโอชะของมันก็คือ สัตว์จำพวกหอยทาก หนอน สัตว์ตัวเล็กๆ ฯลฯ ส่วนศัตรูของเจ้าปลาหมึกดัมโบ้ก็มีอยู่หลายชนิด เช่น ปลาวาฬ ปลาฉลาม ปลาไหล ปลาขนาดใหญ่อื่นๆ ฯลฯ แหม..ขนาดหนีมาอยู่ใต้ทะเลน้ำลึกขนาดนี้ก็ยังหนีไม่พ้นอีกนะคะ เจ้าดัมโบ้ก็เลยต้องหาวิธีต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดด้วยการพ่นหมึกใส่ทำให้ศัตรูมองไม่เห็นแล้วก็รีบหนีไปซ่อนตัวให้เร็วที่สุด รวมถึงการใช้ความสามารถในการเปลี่ยนสีผิวเพื่อพรางตัวด้วย เป็นการเอาตัวรอดที่ไม่ต้องปะทะให้เจ็บตัวเลย ฉลาดจริงๆนะเนี่ย

 

 

Categories
ความรู้ สัตว์น้ำ สัตว์น้ำเค็ม

ปลานกแก้ว ปลาทะเลสีสวยและวิธีการกางมุ้งนอนที่ไม่เหมือนใคร

กรกฎาคม 2021

ปลานกแก้ว

ปลานกแก้ว ปลาทะเลสีสวยและวิธีการกางมุ้งนอนที่ไม่เหมือนใคร

 

ปลานกแก้ว ( Parrotfishes ) เป็นปลาทะเลที่มีสีสันสดใสและมีความโดดเด่นสะดุดตาเป็นพิเศษ ด้วย  ลักษณะลำตัวแบนเรียว เกล็ดเรียงสวยหลากหลายสีสัน สามารถมองเห็นได้ชัดในระยะไกล เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดราวๆ 30-40 เซนติเมตร จัดว่าเป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ในบรรดาปลาทะเลที่มีสีสันสวยงามด้วยกัน  มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ จะมีฟันเรียงติดกันเป็นแผงยื่นออกมาข้างนอกทั้งบนและล่าง  โดยจะเรียงซ้อนกันสองแถวทั้งบนและล่าง ทำให้ปากมีลักษณะเป็นจะงอยยื่นออกมาเหมือนปากนกแก้ว จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “ปลานกแก้ว ”  

นอกจากนี้ยังมีลักษณะอื่นๆที่คล้ายนกอีก เช่น การมีสีสันที่หลากหลายและเด่นชัด สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล  และมีลักษณะการว่ายน้ำที่คล้ายๆกับลักษณะการกางปีกบิน คือจะมีการกางคลีบที่อยู่ข้างลำตัวและหุบเข้า-ออก ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ดูแล้วก็เป็นความงดงามที่คล้ายนกกางปีกบินนั่นเอง

ปลานกแก้ว-1

วิถีการใช้ชีวิตของปลานกแก้ว

ปลานกแก้วมักอาศัยอยู่ตามท้องทะเลที่มีสภาพแวดล้อมและแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำใสสะอาด เจ้าปลาทะเลชนิดนี้หากินโดยการใช้ฟันที่แหลมและแข็งแรงแทะกินสาหร่ายที่งอกอยู่ตามแนวปะการังต่างๆ  รวมถึงใช้ฟันขูดกินผิวปะการังขนาดเล็ก  โดยมีระบบกระเพาะอาหารที่สามารถคัดแยกสาหร่ายและฝุ่นผงออกจากกันได้ จากนั้นจึงขับถ่ายออกมา มีการวิจัยพบว่าปลานกแก้วที่มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม สามารถผลิตฝุ่นทรายได้มากถึง 1 ตัน เลยทีเดียว ปลาชนิดนี้จึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของท้องทะเลอีกชนิดหนึ่ง 

ในส่วนของการผสมพันธุ์จะสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีช่วงที่สูงที่สุดคือ ในช่วงฤดูร้อน ระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม เมื่อมีอายุระหว่าง 2-4 ปี โดยเมื่อปฏิสนธิแล้วพวกมันจะจับคู่กันและตัวเมียจะปล่อยไข่ให้จมลงในน้ำ  จากนั้นจะฟักตัวภายใน 25 ชั่วโมงและจะเริ่มออกหาอาหารได้ใน 3 วันให้หลัง  สังเกตว่าเจ้าปลาทะเลชนิดนี้มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมากๆ และต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเองตั้งแต่เกิด  เมื่อยังเล็กมันจะกินพวกพืชและสัตว์ตัวเล็กๆ เข้มแข็งจริงๆนะ..   

ปลานกแก้ว

วิธีการนอนของปลานกแก้ว  “ นอนยังไงให้ไร้การรบกวน ”

เมื่อออกหากินมาตลอดทั้งวันแล้ว  ตกกลางคืนเจ้าปลานกแก้วก็จะนอนพักผ่อนเอาแรงบ้าง  ซึ่งปลาทะเลชนิดนี้มีวิธีการนอนที่น่าทึ่งมากๆ โดยมันจะมองหาทำเลที่นอนตามซอกหินหรือซอกปะการังที่เหมาะสม  จากนั้นมันจะเข้าไปจับจองหาที่นอนและกางมุ้งนอนค่ะ  ใช่ค่ะ..มันกางมุ้งนอนเพื่อป้องกันอันตรายและการรบกวนจากปรสิตต่างๆ โดยมันจะปล่อยเมือกเหนียวๆออกมาคลุมตัวเองเอาไว้ หากมีศัตรูจะเข้ามาทำร้ายมันจะรู้สึกตัวได้ในทันทีและเผ่นหนีเอาตัวรอดได้ทันทีเลยล่ะค่ะ เป็นการใช้ชีวิตที่รอบคอบจริงๆนะเนี่ย!