กบแก้ว เจ้าสัตว์ตัวน้อยที่มาพร้อมความโปร่งใสและสีสันโดดเด่นสะดุดตา

           กบแก้ว สายพันธุ์เอกวาดอร์ หรือ Hyalinobatrachium yaku เป็นสายพันธุ์ที่เพิ่งถูกค้นพบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่จัดอยู่ในตระกูล Centrolenidae พบได้ในพื้นที่ป่าฝนในประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ประเทศบราซิล คอสตาริกา โคลัมเบีย กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก และปานามา กบแก้วมีจุดเด่น คือ ผิวมีความโปร่งใสราวกับแก้วสามารถมองทะลุเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจนจึงเป็นที่มาของชื่อ กบแก้ว นั่นเอง

ลักษณะโดยทั่วไปของกบแก้ว 

           กบแก้ว เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีลำตัวยาวประมาณ 0.8 นิ้ว มี 4 ขา ผิวมีลักษณะเป็นเมือกลื่นๆ ตัวมีสีเขียวหรือน้ำตาลแตกต่างกันไปซึ่งในส่วนของสีผิวจะมีสีอะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ กบแก้วมีผิวหนังโปร่งใสสามารถมองทะลุไปเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน มีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ โดยมีอยู่ทั้งหมดราวๆ 150 สายพันธุ์ ก่อนหน้านี้ได้พบอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ประเทศเปรูนั่นก็คือ H. pellucidum แต่สายพันธุ์ที่มีความน่าสนใจและสายพันธุ์ที่มีความโปร่งใสมากที่สุดก็คือสายพันธุ์ Hyalinobatrachium yaku ของประเทศเอกวาดอร์นั่นเอง

ลักษณะการวางไข่และการขยายพันธุ์ของกบแก้ว

           กบแก้วสามารถออกไข่ได้ครั้งละประมาณ 18-30 ฟอง โดยจะวางไข่บนใบไม้ที่อยู่ใกล้ๆกับบริเวณริมน้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้และบางครั้งอาจจะเห็นพวกมันกระโดดอยู่บนผิวน้ำไปมา การขยายพันธุ์กบแก้วจะทำได้ก็ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมเท่านั้น เนื่องจากกบแก้วเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างเปราะบางมากจึงทำให้การขยายพันธุ์เป็นไปได้ยาก ต้องรอให้มีความเหมาะสมทางธรรมชาติและความสมดุลทางธรรมชาติเสียก่อน ด้วยเหตุนี้จึงทำได้เพียงการปล่อยให้ขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ

สาเหตุที่ทำให้กบแก้วตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจที่จะพยายามศึกษาว่าเพราะเหตุใดกบแก้วจึงวิวัฒนาการตัวเองมาให้มีความโปร่งใสเช่นนี้ ซึ่งอาจจะดูผิดวิสัยของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วไป โดยมีการสันนิษฐานว่าอาจมีการวิวัฒนาการให้ตัวโปร่งใสเพื่อการพรางตัวที่แนบเนียนและกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้มากขึ้น นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าเจ้ากบแก้วสามารถเดินทางไกลเพื่อไปขยายพันธุ์ได้ โดยรายงานพบว่าสามารถขยายพันธุ์ได้ไกลถึง 110 กิโลเมตร จากจุดที่เป็นแหล่งที่อยู่ของมัน และอาจมีการขยายพันธุ์ไกลออกไปเรื่อยๆ

           แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ากบแก้วมีจำนวนลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และมีภาวะเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้เนื่องจากมลพิษทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและการถูกคุกคามจากมนุษย์ โดยอิงข้อมูลปัจจุบันพบว่ากบแก้วทั่วโลกเหลืออยู่ประมาณ 5,000 ตัวเท่านั้น หากเราไม่เริ่มช่วยกันอนุรักษ์ตั้งแต่ตอนนี้อีกไม่นานคนรุ่นลูกรุ่นหลานอาจจะไม่มีใครได้เห็นและอาจไม่มีใครรู้จักกบแก้วตัวเป็นๆอีกต่อไปก็ได้