ไซกา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เปลี่ยนสีได้ตามสภาพอากาศ

             ไซกา หรือ กุย ( Saiga Antelope ) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Saiga Tatarica อยู่ในวงศ์ Antilopinae ไซกาเป็นสัตว์ 4 เท้าที่มีลักษณะคล้ายกับกวางกึ่งสมเส็จ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีช่วงขายาวประมาณ 0.6 - 0.8 เมตร ช่วงลำตัวยาวประมาณ 180 - 146 เซนติเมตร ความยาวของหางอยู่ที่ประมาณ 6 - 13 เซนติเมตร มีดวงตาสวยกลมโต เมื่อเจริญเติบโตเต็มวัยจะสามารถมีน้ำหนักได้ประมาณ 36 - 63 กิโลกรัม มีเขา 2 ข้าง ยาวข้างละ 20 - 25 เซนติเมตร โดยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย

             ไซกาจะมีลักษณะของจมูกเป็นงวงยื่นออกมาคล้ายจมูกของสมเสร็จเมื่อสัมผัสจะมีความยืดหยุ่น นอกจากทำหน้าที่หายใจแล้วจมูกยังทำหน้าที่กรองฝุ่นละอองและอุ่นอากาศในฤดูหนาวได้อีกด้วย จัดเป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูงสามารถทนได้แม้ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเลวร้าย

ไซกาผู้มาพร้อมพรสวรรค์ในการปรับตัวขั้นเทพ

             ไซกา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีนิสัยค่อนข้างขี้ตกใจง่ายและขี้กลัว จึงทำให้มันมีนิสัยระแวดระวังภัยอยู่ตลอดเวลาและพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมากที่สุด โดยจะเห็นได้จากการปรับตัวของไซกาในช่วงฤดูต่างๆ เช่น ขนของเจ้าไซกาจะสามารถเปลี่ยนสีไปได้ตามฤดูกาล โดยจะมีขนสีขาวในช่วงที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นขนจะยาวยื่นออกมาประมาณ 40 - 70 มิลลิเมตร และจะมีความหนาเพิ่มมากขึ้นด้วยเพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย แต่พอช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนขนของมันจะมีสีเหลือง หดสั้นและบางลงอย่างมาก โดยจะมีความยาวประมาณ 18 - 30 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง

             นอกจากนี้ไซกายังสามารถว่ายน้ำได้อย่างเก่งกาจ สามารถวิ่งได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความอดทนสามารถเดินทางไกลได้มากถึง 80 - 100 กิโลเมตรต่อวัน โดยจะเห็นได้จากการอพยพในช่วงฤดูใบไม้ผลิขึ้นไปทางเหนือเพื่อที่จะไปกินหญ้าในช่วงฤดูร้อน ช่างเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเก่งและมีความอดทนสูงมากจริงๆ

วิถีชีวิตและการสืบพันธุ์ของไซกาสัตว์หน้าแปลก

             ไซกา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอาหารหลักคือ พืช โดยมันสามารถกินได้ทั้งพืชปกติทั่วไปแล้วก็สามารถกินพืชที่เป็นพิษบางชนิดได้ด้วย สามารถพบไซกาได้ในแถบเอเชียกลาง เช่น มองโกเลียตะวันตก จีนตะวันตกเฉียงเหนือ และไซบีเรียตอนใต้ โดยมันจะมีอายุขัยได้ประมาณ 6 - 10 ปี และจะมีการผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนปีต่อมา

             โดยตัวเมียจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุครบ 8 เดือน และตัวผู้เมื่อมีอายุครบ 20 เดือน ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะมีการใช้เขาแหลมๆของมันต่อสู้กันจนตายเพื่อครองตัวเมียภายในฝูง เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้ที่รอดชีวิตจะรวมตัวกันเป็นฝูงแล้วเดินทางขึ้นเหนือเพื่อเตรียมไปกินยอดหญ้าในช่วงฤดูร้อน 

             ส่วนตัวเมียก็จะยังคงอยู่ที่เดิมและให้กำเนิดลูกน้อยซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 140 วัน โดยตัวเมียสามารถคลอดลูกได้ครั้งละ 1-2 ตัว และลูกไซกาจะสามารถกินอาหารได้เองเมื่อโตได้เพียง 4 วันเท่านั้น เมื่ออายุได้ประมาณ 3-4 เดือน จะหย่านมแม่และเริ่มออกหากินเองตามธรรมชาติ เก่งตั้งแต่เด็กเลยนะเนี่ย !!

             ปัจจุบัไซกามีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าส่วนเขาของไซกาสามารถนำไปปรุงเป็นยาจีนบำรุงร่างกายได้ ซึ่งราคาซื้อขายในตลาดตอนนี้จัดว่าแพงมากเลยทีเดียว และในปี ค.ศ 2015 มีโรคระบาดทำให้ไซกามีการติดเชื้อและตายไปเป็นจำนวนมากส่งผลทำให้มีปริมาณลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันไซกาจัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤตเลยทีเดียว