ทำความรู้จักกับ “ หมูทะเล ” ปลิงทะเลตัวอ้วนหน้าตาแปลกใต้ท้องทะเลลึก

           หมูทะเล ( Seapig ) หรือ หมูน้ำทะเล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Scotoplanes จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับปลิงทะเล ( Sea Cucumber ) สามารถพบได้ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย ในระดับน้ำที่มีความลึกมากถึง 1,000 เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นส่วนที่ลึกและเย็นที่สุดของที่ราบก้นสมุทรเลยทีเดียว

ลักษณะโดยทั่วไปของหมูทะเล

           หมูทะเลจะมีผิวเป็นสีชมพูเกลี้ยง ลำตัวมีลักษณะอ้วนกลมเมื่อพองตัวและมีรูปทรงเรียวเล็กในช่วงเวลาปกติ เวลาไม่พองตัวมองเผินๆก็จะเหมือนปลิงทะเลทั่วไป แต่จะต่างจากปลิงทะเลทั่วไปตรงที่มีปากยื่นออกมาคล้ายกับจมูกหมู ด้วยรูปร่างที่อ้วนกลมเมื่อพองตัวและมีปากที่ยื่นออกมาคล้ายจมูกหมูจึงเป็นที่มาของชื่อเรียก หมูทะเลหรือหมูน้ำ โดยปากของหมูทะเลจะอยู่ตอนปลายสุดด้านที่มีหนวดขึ้นเป็นกระจุกหนา ทำหน้าที่ในการดมกลิ่นและคอยเซ็นเซอร์หาแหล่งอาหาร เมื่อเจอแหล่งอาหารจะทำหน้าที่ขุดและดูดกินโคลนหน้าดิน โดยจะกินเฉพาะพวกซากพืชซากสัตว์ที่เกาะอยู่ตามผิวหน้าดินโคลน จากนั้นจะทำการขับถ่ายส่วนที่ไม่ต้องการออกมา

           หลายคนอาจจะสงสัยว่าส่วนที่ยื่นออกมาบริเวณลำตัวและปากของหมูทะเลนั้นคืออะไร ส่วนที่ยื่นออกมานี้เรียกว่า ทิวบ์ฟีต ( Tube Feet ) สามารถยืดและหดได้ โดยส่วนที่ยื่นออกมาบริเวญตัวและท้องจะทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวคล้ายกับขา เช่น การคลานบนพื้น ส่วนที่ยื่นออกมาเป็นกระจุกหนาบริเวณปากจะทำหน้าที่ในการดมกลิ่นและคอยเซ็นเซอร์หาแหล่งอาหาร โดยหมูทะเลหนึ่งตัวจะมีทิวบ์ฟีตอยู่ประมาณ 5-7 คู่ โดยเมื่อจับยืดออกมาวัดแล้วจะมีความยาวได้ราวๆ 15 เซนติเมตร 

ศัตรูตัวฉกาจของหมูทะเล

           ด้วยความที่เจ้าหมูอ้วนของเราเป็นเพียงปลิงทะเลธรรมด๊าธรรมดา ขนาดพยายามพองตัวเต็มที่แล้วก็ยังไม่มีใครกลัวเลยสักนิด เจ้าหมูทะเลจึงมักตกเป็นอาหารของสัตว์ต่างๆเสมอมา แม้ว่าธรรมชาติจะสร้างมาให้มันมีสารเคมีพิษอยู่ใต้ผิวหนังแต่ก็ทำได้เพียงปล่อยรสตชาติฝาดขมออกมาเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้มันรอดพ้นจากศัตรูอย่าง เช่น ปรสิตแปลกๆจำนวนมาก ครัสเตเชีย และกุ้งตัวเล็กๆเลยแม้แต่น้อย เจ้าพวกนี้มักจะชอนไชกัดกินหมูทะเลจากด้านในไปเรื่อยๆทีละนิดๆ แต่ถึงยังไงก็ยังไม่หนักเท่าฝีมือมนุษย์ที่มักจะลากอวนจับไปทีละมากๆเพื่อนำไปขายและทำอาหารราคาแพงในกลุ่มประเทศต่างๆอีกด้วย