ด้วงเต่าลาย ( Ladybird beetles , Ladybugs ) หรือที่เรียกว่า เต่าทอง เป็นแมลงปีกแข็งที่อยู่ในวงศ์ Coccinellidae มีลักษณะเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ตัวอ้วนกลม ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะพบชนิดที่มีปีกสีแดง ส้ม เหลือง และมักจะมีลวดลายเป็นจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วปีก เมื่อมองดูจะมีลักษณะโค้งนูนคล้ายหลังเต่าและมีหนวดแบบลูกตุ้ม จึงเป็นที่มาของชื่อ เต่าทอง พบว่ามีถิ่นการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศไทย
ด้วงเต่าลายจะมีรูปร่างลักษณะและสีสันที่แตกต่างกันออกไป บางชนิดจะมีสีเหมือนกันทั้งตัว เช่น สีน้ำตาล สีดำ สีส้ม บางชนิดก็จะเป็นลายหรือจุดบนลำตัว โดยส่วนใหญ่จะเป็นตัวห้ำมีน้อยชนิดที่เป็นศัตรูพืช ( แมลงตัวห้ำ คือ แมลงที่หากินเหยื่อที่เป็นแมลงด้วยกันเป็นอาหาร ชาวเกษตรกรนิยมใช้ประโยชน์จากตัวห้ำในการกำจัดศัตรูพืชโดยการปล่อยให้ลงไปกินแมลงศัตรูพืชที่มีอยู่ในสวน )
เต่าทองมีลักษณะเป็นแมลงห้ำทั้งในระยะที่เป็นตัวอ่อนและตัวโตเต็มวัย สามารถทำลายแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรศัตรูพืช รวมทั้งไข่ของแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด นอกจากเต่าทองจะกินแมลงศัตรูพืชเป็นอาหารหลักแล้ว ในยามที่ขาดแคลนอาหารก็ยังสามารถกินน้ำหวานที่แมลงกลั่นออกมา (Honeydew) และน้ำหวานจากเกสรดอกไม้เพื่อประทังชีวิตด้วย
ด้วงเต่าลายตัวเมียที่โตเต็มวัยจะวางไข่กระจุกกันเป็นกลุ่มโดยจะเรียงเป็นแถวอย่างมีระเบียบ ในบางครั้งอาจจะวางไข่เป็นแบบเป็นฟองเดี่ยว ๆ บนต้นพืช ใบพืช และชอบวางไข่บริเวณที่มีเหยื่ออยู่ทำให้ง่ายต่อการออกหาอาหาร
ไข่ด้วงเต่าลายมีหลากหลายสี ตั้งแต่สีครีม เหลืองอ่อน เหลืองแก่ ส้ม หรือสีแดง แล้วแต่ชนิด และจะฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 2 – 3 วัน เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่จะมีรูปร่างยาวรี ในช่วงที่ยังเป็นตัวอ่อนจะแบ่งออกเป็น 4 วัย หลังจากนั้นจะหดตัวกลับเข้าเป็นดักแด้ซึ่งระยะเวลาที่เป็นดักแด้จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อออกจากดักแด้ 2 – 3 วัน จะเริ่มผสมพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ( แม้เพียงครั้งเดียว ) ก็สามารถจะวางไข่ที่สมบูรณ์ได้ตลอดชีวิต
ด้วงเต่าลายที่ตัวโตเต็มวัยจะมีอายุอยู่ได้ 1 – 2 เดือน หากอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม มีอาหารสมบูรณ์ ตัวเมีย 1 ตัว จะสามารถวางไข่ได้มากถึง 900 – 1,000 ฟองเลยทีเดียว และในระยะที่เป็นตัวอ่อนจนถึงตัวโตเต็มวัยด้วงเต่าลายหนึ่งตัวจะสามารถกินเพลี้ยอ่อนเฉลี่ยประมาณ 1,167 ตัว จึงไม่แปลกที่ชาวเกษตรกรจะชื่นชอบและสะสมเจ้าตัวจิ๋วนี้เอาไว้ในสวน จัดว่าเป็นวิธีการพึ่งพากันแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าอย่างสมบูรณ์
โดยแบ่งออกเป็น สัตว์ปีก สัตว์บก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน จากนั้นก็บอกถึงลักษณะและพฤติกรรมเด่น ๆ หรือ ฉายาของสัตว์นั้น ๆ