กบศรพิษเหลืองดำ กบตัวจิ๋วพิษร้ายที่ฆ่าคนได้ถึง 10 คน

       กบศรพิษเหลืองดำ ( Golfodulcean poison frog ) เป็นกบมีพิษที่จัดอยู่ในวงศ์ DENDROBATIDAE มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phyllobates vittatus มีลักษณะเป็นกบพิษสีเหลืองมีสีสันสดใสมีโทนสีดำ-เหลืองตัดกัน แม้จะมีสีสันสวยงามแต่ความจริงแล้วกลับมีพิษที่ร้ายแรงมาก พบว่าพิษของกบศรพิษเหลืองดำเพียง 1 ตัว ( พิษ 5 ไมโครกรัม ) สามารถฆ่าคนได้ถึง 10 คนและค่าหนูได้มากถึง 20,000 ตัวเลยทีเดียว กบพิษสีเหลืองสายพันธุ์นี้พบมากในบริเวณป่าเขตฝนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ อาทิเช่น ประเทศชิลี บราซิล และกายอานา พิษของมันมักถูกนำมาใช้เป็นยาพิษอาบลูกดอกของพวกอินเดียนแดง

ลักษณะของกบศรพิษเหลืองดำ

       กบศรพิษเหลืองดำเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร โดยกบในตระกูลนี้มักจะมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะมีสีสันและลวดลายแตกต่างกันออกไป เช่น สีเหลือง สีดำ สีแดง สีส้ม สีฟ้า สีชมพู สีเขียว ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดิน กาบต้นไม้ ป่าสับปะรด ใต้ใบไม้ ฯลฯ ชอบออกหากินในตอนกลางวันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากนับจำนวนกบในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ก็จะมีอยู่ทั้งหมดประมาณ 220 สายพันธุ์ และในจำนวน 220 สายพันธุ์นั้นมี100กว่าสายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ของกบลูกดอกพิษ ซึ่งกบศรพิษเหลืองดำก็จัดเป็นกบมีพิษจำพวกนั้นด้วย

       แม้ว่ากบศรพิษเหลืองดำ จะมีขนาดเล็กน่ารักและมีสีสัน-ลวดลายที่สวยงามมากเพียงใดก็ตาม เมื่อมารู้ถึงอานุภาพของพิษที่กบพิษสีเหลืองชนิดนี้มีอยู่แล้วก็แทบจะหดมือกลับไม่ทันกันเลยทีเดียว โดยกบศรพิษเหลืองดำจะมีต่อมผลิตพิษที่ร้ายแรงมากเป็นสารเคมีประเภทอัคคาลอยด์ที่จะไปออกฤทธิ์ระหว่างจุดประสานเซลล์ประสาทและระหว่างประสาทกับกล้ามเนื้อ โดยจะเป็นประเภทที่ไปละลายในสารละลายอินทรีย์สามารถทำให้มนุษย์หรือสัตว์ขนาดใหญ่ตายได้เพียงแค่ไปสัมผัสโดนพิษเท่านั้นเอง ได้มีการจัดอันดับสัตว์ที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลกก็ปรากฏว่ากบมีพิษในตระกูลนี้ติดอยู่ในอันดับด้วยเพราะด้วยพิษเพียง 5 ไมโครกรัม ก็สามารถฆ่ามนุษย์ได้ถึง 10 คนและหนูได้มากถึง 20,000 ตัว แต่สีสันของกบก็ไม่อาจใช้เป็นตัวตัดสินความมีพิษได้เสมอไปกบบางสกุลอาจไม่ได้มีสีสันสดใสแต่ก็มีพิษร้ายแรงได้เช่นเดียวกัน

การผสมพันธุ์ของกบศรพิษเหลืองดำ

       กบพิษสีเหลืองชนิดนี้มักจะมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์โดยตัวผู้จะไม่กอดรัดตัวเมีย แต่ถ้าจะมีการกอดรัดก็จะเป็นการกอดรัดบริเวณหัวเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการผสมพันธุ์กันเรียบร้อยแล้วกบตัวเมียดก็จะไปวางไข่บนพื้นหญ้าหรือบนต้นไม้แล้วคอยเฝ้าดูแลไข่อยู่ใกล้ๆ เมื่อไข่ฟักตัวเป็นลูกอ๊อดในช่วงแรกลูกอ๊อดจะอาศัยอยู่เกาะบนหลังของพ่อกบหรือแม่กบก่อนระยะหนึ่ง จากนั้นเมื่อเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้วก็จะลงน้ำและออกหากินตามธรรมชาติต่อไป ปัจจุบันนี้พบว่ากบศรพิษเหลืองดำอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้ว