Categories
สัตว์น้ำ

ปลานีออน ปลาสวยงามไซส์มินิ รักสงบ และชอบอยู่เป็นฝูง

สิงหาคม 2021

          ปลานีออน หรือ ปลานีออนเตตร้า ( Neon , Neon Tetra ) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Paracheirodon innesi อยู่ในวงศ์ปลาคาราซิน ปลานีออนเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่มีสีสันโดดเด่นสะดุดตา จัดเป็นปลาสวยงามที่มักพบได้ในแหล่งน้ำในป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของไม้น้ำทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของโคลัมเบีย ตะวันตกของบราซิล และตะวันออกของเปรู

ลักษณะของปลานีออนปลาไซส์จิ๋วสีสันสดใส

          ปลานีออนจัดเป็นปลาสวยงามที่มีนิสัยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มีขนาดตัวที่เล็กและเป็นรูปทรงรีคล้ายๆกับเม็ดข้าว มีดวงตากลมโต มีครีบตามตัวทั้งหมด 7 ครีบ ซึ่งคลิปของปลานีออนจะมีลักษณะโปร่งใส มีเกล็ดขนาดเล็กและมีความมันวาวมาก สามารถเห็นตัวปลาได้ชัดเมื่อตกกระทบกับแสง แผงหลังมีสีเหลือบเขียวทั้งแผง ลำตัวมีเส้นเรืองแสงวาววับตั้งแต่จมูกลากยาวมาจนถึงตา และลามไปที่ครีบส่วนหาง ด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า ปลานีออน นอกจากนี้ส่วนท้องของปลานีออนจะมีสีขาว-เงิน บริเวณโคนหางมีสีแดงสดเมื่อเจริญเติบโตเต็มวัยจะมีขนาดตัวประมาณ 1 นิ้ว 

การขยายพันธุ์ของปลานีออน

          ปลานีออนนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยมากนิยมเลี้ยงในตู้ปลาและประดับตกแต่งให้สวยงาม โดยประเทศที่ได้มีการนำเข้ามาขยายพันธุ์ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆอีกมากมาย ในการเลี้ยงปลานีออนควรมีการรักษาอุณหภูมิให้อยู่ที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส

          ปลานีออนเป็นปลาที่รักสงบ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และมีนิสัยขี้ตกใจเอามากๆ ดังนั้นการนำมาเลี้ยงในตู้ปลาจึงควรเลือกตู้ที่มีฝาปิดมิดชิดป้องกันไม่ให้ปลาตกใจและกระโดดออกมาตายข้างนอกตู้ ภายในตู้ควรประกอบไปด้วย เช่น ขอนไม้ที่มีลักษณะเป็นโพรงกลวงๆตรงกลาง หิน พรรณไม้น้ำต่างๆ เพื่อให้ปลาสามารถเข้าไปพักหรือหลบภัยได้

          ในส่วนของการขยายพันธุ์นั้นเมื่อปลานีออนมีการผสมพันธุ์กันแล้ว ในระยะเวลาต่อมาเมื่อไข่สุกเต็มที่ปลาตัวเมียจะทำการวางไข่ตามใบไม้ที่อยู่ริมน้ำโดยไข่จะมีลักษณะเป็นเม็ดใสๆเล็กๆมากมาย โดยจะใช้เวลาราวๆ 3 วัน ในการฟักตัวก่อนจะออกมาเป็นลูกปลาสวยงามตัวนี้น้อยๆ ที่พอลืมตาดูโลกพ่อแม่ก็ปล่อยให้หาอาหารกินเองซะแล้ว การออกไข่ในแต่ละครั้งของปลานีออนสามารถออกได้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่ต้องดิ้นรนมีชีวิตรอดด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเล็กจึงไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนประชากรของปลานีออนสักเท่าไหร่นัก 

 

Categories
สัตว์น้ำ

ทำความรู้จักกับ “ หมูทะเล ” ปลิงทะเลตัวอ้วนหน้าตาแปลกใต้ท้องทะเลลึก

สิงหาคม 2021

           หมูทะเล ( Seapig ) หรือ หมูน้ำทะเล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Scotoplanes จัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับปลิงทะเล ( Sea Cucumber ) สามารถพบได้ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย ในระดับน้ำที่มีความลึกมากถึง 1,000 เมตร ซึ่งจัดว่าเป็นส่วนที่ลึกและเย็นที่สุดของที่ราบก้นสมุทรเลยทีเดียว

ลักษณะโดยทั่วไปของหมูทะเล

           หมูทะเลจะมีผิวเป็นสีชมพูเกลี้ยง ลำตัวมีลักษณะอ้วนกลมเมื่อพองตัวและมีรูปทรงเรียวเล็กในช่วงเวลาปกติ เวลาไม่พองตัวมองเผินๆก็จะเหมือนปลิงทะเลทั่วไป แต่จะต่างจากปลิงทะเลทั่วไปตรงที่มีปากยื่นออกมาคล้ายกับจมูกหมู ด้วยรูปร่างที่อ้วนกลมเมื่อพองตัวและมีปากที่ยื่นออกมาคล้ายจมูกหมูจึงเป็นที่มาของชื่อเรียก หมูทะเลหรือหมูน้ำ โดยปากของหมูทะเลจะอยู่ตอนปลายสุดด้านที่มีหนวดขึ้นเป็นกระจุกหนา ทำหน้าที่ในการดมกลิ่นและคอยเซ็นเซอร์หาแหล่งอาหาร เมื่อเจอแหล่งอาหารจะทำหน้าที่ขุดและดูดกินโคลนหน้าดิน โดยจะกินเฉพาะพวกซากพืชซากสัตว์ที่เกาะอยู่ตามผิวหน้าดินโคลน จากนั้นจะทำการขับถ่ายส่วนที่ไม่ต้องการออกมา

           หลายคนอาจจะสงสัยว่าส่วนที่ยื่นออกมาบริเวณลำตัวและปากของหมูทะเลนั้นคืออะไร ส่วนที่ยื่นออกมานี้เรียกว่า ทิวบ์ฟีต ( Tube Feet ) สามารถยืดและหดได้ โดยส่วนที่ยื่นออกมาบริเวญตัวและท้องจะทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวคล้ายกับขา เช่น การคลานบนพื้น ส่วนที่ยื่นออกมาเป็นกระจุกหนาบริเวณปากจะทำหน้าที่ในการดมกลิ่นและคอยเซ็นเซอร์หาแหล่งอาหาร โดยหมูทะเลหนึ่งตัวจะมีทิวบ์ฟีตอยู่ประมาณ 5-7 คู่ โดยเมื่อจับยืดออกมาวัดแล้วจะมีความยาวได้ราวๆ 15 เซนติเมตร 

ศัตรูตัวฉกาจของหมูทะเล

           ด้วยความที่เจ้าหมูอ้วนของเราเป็นเพียงปลิงทะเลธรรมด๊าธรรมดา ขนาดพยายามพองตัวเต็มที่แล้วก็ยังไม่มีใครกลัวเลยสักนิด เจ้าหมูทะเลจึงมักตกเป็นอาหารของสัตว์ต่างๆเสมอมา แม้ว่าธรรมชาติจะสร้างมาให้มันมีสารเคมีพิษอยู่ใต้ผิวหนังแต่ก็ทำได้เพียงปล่อยรสตชาติฝาดขมออกมาเท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้มันรอดพ้นจากศัตรูอย่าง เช่น ปรสิตแปลกๆจำนวนมาก ครัสเตเชีย และกุ้งตัวเล็กๆเลยแม้แต่น้อย เจ้าพวกนี้มักจะชอนไชกัดกินหมูทะเลจากด้านในไปเรื่อยๆทีละนิดๆ แต่ถึงยังไงก็ยังไม่หนักเท่าฝีมือมนุษย์ที่มักจะลากอวนจับไปทีละมากๆเพื่อนำไปขายและทำอาหารราคาแพงในกลุ่มประเทศต่างๆอีกด้วย

 

Categories
สัตว์น้ำ สัตว์น้ำเค็ม

ปลาแมนดาริน จอมหวงถิ่นและวิธีจีบสาวเท่ห์ๆในสไตล์แมนดาริน

สิงหาคม 2021

              ปลาแมนดาริน ( Mandarinfish ) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Synchiropus splendiddus เป็นปลาน้ำจืดที่จัดอยู่ในวงศ์ Callionynidae มีหน้าตาคล้ายปลาบู่แต่ไม่ได้อยู่วงเดียวกันกับปลาบู่ สามารถพบปลาแมนดารินในทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ โดยมักจะเป็นการอาศัยอยู่ตามบริเวณแนวปะการังที่มีกระแสน้ำไม่แรงมากนักและมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามโขดหิน

              ปลาแมนดารินเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีความยาวได้ไม่เกิน 80 เซนติเมตร โดยเป็นปลาที่มีสีสันฉูดฉาดมีสีตัดกันสลับไปมาดูสดใส มีผิวเรียบและลื่น ยิ่งในช่วงที่มีการผสมพันธุ์หรือมีการต่อสู้กันปลาแมนดารินตัวผู้จะแสดงสีสันที่ชัดเจนมากกว่าช่วงเวลาปกติ นอกจากนี้เรายังสามารถสังเกตเพศของปลาแมนดารินได้โดยให้สังเกตที่บริเวณครีบหลัง ซึ่งตัวผู้จะมีครีบหลังที่ยาวยื่นออกมาให้เห็นได้ชัดเจน ส่วนตัวเมียจะไม่มีครีบหลัง

การหาอาหารและวิธีการเอาตัวรอดตามสไตล์ของปลาแมนดาริน

              อาหารของปลาน้ำจืดชนิดนี้จะเป็นจำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก โดยมันจะใช้ครีมบริเวณท้องซึ่งเป็นครีบที่มีขนาดใหญ่ช่วยพยุงตัวคลานไปตามพื้นทะเลเพื่อหาอาหาร และมีครีบบริเวณหางช่วยในการบังคับทิศทาง เมื่อมันต้องเผชิญอันตรายมันจะปล่อยเมือกพิษออกมาเพื่อป้องกันตัวจากศัตรูหรือจากปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า 

              ปลาแมนดารินมักจะแสดงนิสัยก้าวร้าวออกมาโดยเฉพาะเวลาที่ต้องการรักษาอาณาเขตของตนจากปลาชนิดเดียวกัน โดยมันจะกางครีบออกมาให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้และพยายามขับสีผิวให้มีสีเข้มที่สุดเพื่อที่จะทำการข่มขู่ฝ่ายตรงกันข้าม แต่หากมีการต่อสู้เกิดขึ้นมันจะปล่อยเมือกพิษออกมาทำลายคู่ต่อสู้ในทันที 

วิธีการจีบสาวและการผสมพันธุ์ของปลาแมนดาริน

              จัดว่าเป็นปลาน้ำจืดที่มีวิธีการจีบสาวที่สุดแสนจะอ่อนหวานมากเลยทีเดียว ช่างแตกต่างกับพฤติกรรมเวลาที่ต้องปกป้องอาณาเขตโดยสิ้นเชิง โดยเจ้าปลาแมนดารินตัวผู้จะพยายามทำตัวให้มีสีสันสวยงามขึ้นมากกว่าในช่วงเวลาปกติอย่างเห็นได้ชัด และจะจีบโดยใช้วิธีว่ายน้ำเกี้ยวสาวไปรอบๆเพื่อให้สาวๆได้ชื่นชมความงดงามของตนเหมือนกับจะพยายามทำตัวให้สาวๆหลงเสน่ห์ยังไงอย่างงั้น เมื่อตัวเมียมีใจจะปล่อยไข่ออกมาและไข่จะลอยไปตามกระแสน้ำตัวผู้จึงจะทำการปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสม

              หลังจากนั้นจะใช้เวลาเพียง 14 ชั่วโมงเท่านั้นในการฟักไข่โดยปริมาณอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 28 องศา โดยเมื่อลูกปลาถึงเวลาที่จะต้องออกมาสู่โลกภายนอก มันจะใช้หัวดันเปลือกไข่ออกมาทีละนิดๆ จนสามารถหลุดออกมาได้ในที่สุด

 

Categories
สัตว์บก

ไซกา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เปลี่ยนสีได้ตามสภาพอากาศ

สิงหาคม 2021

             ไซกา หรือ กุย ( Saiga Antelope ) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Saiga Tatarica อยู่ในวงศ์ Antilopinae ไซกาเป็นสัตว์ 4 เท้าที่มีลักษณะคล้ายกับกวางกึ่งสมเส็จ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีช่วงขายาวประมาณ 0.6 - 0.8 เมตร ช่วงลำตัวยาวประมาณ 180 - 146 เซนติเมตร ความยาวของหางอยู่ที่ประมาณ 6 - 13 เซนติเมตร มีดวงตาสวยกลมโต เมื่อเจริญเติบโตเต็มวัยจะสามารถมีน้ำหนักได้ประมาณ 36 - 63 กิโลกรัม มีเขา 2 ข้าง ยาวข้างละ 20 - 25 เซนติเมตร โดยตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย

             ไซกาจะมีลักษณะของจมูกเป็นงวงยื่นออกมาคล้ายจมูกของสมเสร็จเมื่อสัมผัสจะมีความยืดหยุ่น นอกจากทำหน้าที่หายใจแล้วจมูกยังทำหน้าที่กรองฝุ่นละอองและอุ่นอากาศในฤดูหนาวได้อีกด้วย จัดเป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูงสามารถทนได้แม้ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเลวร้าย

ไซกาผู้มาพร้อมพรสวรรค์ในการปรับตัวขั้นเทพ

             ไซกา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีนิสัยค่อนข้างขี้ตกใจง่ายและขี้กลัว จึงทำให้มันมีนิสัยระแวดระวังภัยอยู่ตลอดเวลาและพยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมากที่สุด โดยจะเห็นได้จากการปรับตัวของไซกาในช่วงฤดูต่างๆ เช่น ขนของเจ้าไซกาจะสามารถเปลี่ยนสีไปได้ตามฤดูกาล โดยจะมีขนสีขาวในช่วงที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นขนจะยาวยื่นออกมาประมาณ 40 - 70 มิลลิเมตร และจะมีความหนาเพิ่มมากขึ้นด้วยเพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย แต่พอช่วงที่มีสภาพอากาศร้อนขนของมันจะมีสีเหลือง หดสั้นและบางลงอย่างมาก โดยจะมีความยาวประมาณ 18 - 30 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง

             นอกจากนี้ไซกายังสามารถว่ายน้ำได้อย่างเก่งกาจ สามารถวิ่งได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความอดทนสามารถเดินทางไกลได้มากถึง 80 - 100 กิโลเมตรต่อวัน โดยจะเห็นได้จากการอพยพในช่วงฤดูใบไม้ผลิขึ้นไปทางเหนือเพื่อที่จะไปกินหญ้าในช่วงฤดูร้อน ช่างเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเก่งและมีความอดทนสูงมากจริงๆ

วิถีชีวิตและการสืบพันธุ์ของไซกาสัตว์หน้าแปลก

             ไซกา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอาหารหลักคือ พืช โดยมันสามารถกินได้ทั้งพืชปกติทั่วไปแล้วก็สามารถกินพืชที่เป็นพิษบางชนิดได้ด้วย สามารถพบไซกาได้ในแถบเอเชียกลาง เช่น มองโกเลียตะวันตก จีนตะวันตกเฉียงเหนือ และไซบีเรียตอนใต้ โดยมันจะมีอายุขัยได้ประมาณ 6 - 10 ปี และจะมีการผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนปีต่อมา

             โดยตัวเมียจะถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุครบ 8 เดือน และตัวผู้เมื่อมีอายุครบ 20 เดือน ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะมีการใช้เขาแหลมๆของมันต่อสู้กันจนตายเพื่อครองตัวเมียภายในฝูง เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้ที่รอดชีวิตจะรวมตัวกันเป็นฝูงแล้วเดินทางขึ้นเหนือเพื่อเตรียมไปกินยอดหญ้าในช่วงฤดูร้อน 

             ส่วนตัวเมียก็จะยังคงอยู่ที่เดิมและให้กำเนิดลูกน้อยซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 140 วัน โดยตัวเมียสามารถคลอดลูกได้ครั้งละ 1-2 ตัว และลูกไซกาจะสามารถกินอาหารได้เองเมื่อโตได้เพียง 4 วันเท่านั้น เมื่ออายุได้ประมาณ 3-4 เดือน จะหย่านมแม่และเริ่มออกหากินเองตามธรรมชาติ เก่งตั้งแต่เด็กเลยนะเนี่ย !!

             ปัจจุบัไซกามีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าส่วนเขาของไซกาสามารถนำไปปรุงเป็นยาจีนบำรุงร่างกายได้ ซึ่งราคาซื้อขายในตลาดตอนนี้จัดว่าแพงมากเลยทีเดียว และในปี ค.ศ 2015 มีโรคระบาดทำให้ไซกามีการติดเชื้อและตายไปเป็นจำนวนมากส่งผลทำให้มีปริมาณลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันไซกาจัดว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ขั้นวิกฤตเลยทีเดียว